Monday, June 29, 2009

การดำเนินนโยบายต่างประเทศของประเทศไทย:การเรียกร้องดินแดนคืนจากประเทศฝรั่งเศส

โดย พลเรือตรี รศ.ทองใบ ธีรานันทางกูร

ที่จะนำเสนอต่อไปนี้เป็นเรื่องของ “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” เฉพาะในส่วนของนโยบายต่างประเทศ โดยนำนโยบายต่างประเทศของประเทศไทยต่ออินโดจีน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมาเกือบ ๗๐ ปีมาเป็นกรณีศึกษา คำว่า อินโดจีน หมายถึง อินโดจีนฝรั่งเศส อันประกอบด้วยเวียดนาม กัมพูชา และลาว ซึ่งในขณะนั้นยังตกเป็นอาณานิคมของประเทศฝรั่งเศส รัฐบาลไทยของจอมพล ป.พิบูลสงครามได้เรียกร้องดินแดนคืนทั้งในลาวและกัมพูชา ซึ่งเป็นดินแดนที่ประเทศไทยได้สูญเสียให้แก่ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๐๔ ถึงปี ค.ศ. ๑๙๐๙ รัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงครามประสบความสำเร็จในเป้าหมายของนโยบายต่างประเทศ กล่าวคือ สามารถได้ดินแดนคืนบางส่วนทั้งในประเทศลาวและประเทศกัมพูชา แม้ว่าดินแดนเหล่านี้จะถูกบังคับให้คืนให้แก่ประเทศฝรั่งเศสในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองแล้วก็ตาม

ในการดำเนินเรื่อง ผู้เขียนจะได้นำเสนอประเด็นสำคัญๆตามลำดับดังนี้

๑) นิยามนโยบายต่างประเทศ
๒) นโยบายต่างประเทศของประเทศไทย
๓) หลักนิยม ๒ อย่างของยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของประเทศไทย
๔) รากเหง้าของนโยบายการเรียกร้องดินแดนในอินโดจีนคืนจากฝรั่งเศส
๕) ประเทศญี่ปุ่นเข้ามาเป็นอีกปัจจัยในนโยบายต่างประเทศของประเทศไทย
๖) ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของผู้นำไทยภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
๗)ความสำเร็จของประเทศไทยในการเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส
๘) ผลดีของการดำเนินยุทธศาสตร์และยุทธวิธีดุลอำนาจ
๙) เบื้องแรกแค่ขอปรับดินแดนในแม่น้ำโขง
๑๐) สถานการณ์เปลี่ยนและข้อเรียกร้องเปลี่ยนตาม
๑๑)ก่อนเกิดสงครามไม่ประกาศระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส
๑๒) การทูตเชิงรุกของประเทศไทย
๑๓) ความเชื่อมโยงระหว่างการเมืองภายในกับนโยบายต่างประเทศ
๑๔) การใช้กำลังทหารผสานกับการทูต
๑๕) อนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส
๑๖) ผู้นำไทยพยายามดึงสหภาพโซเวียตมาดุลอำนาจในภูมิภาค

สำหรับข้อมูลที่นำมาใช้สนับสนุนในการนำเสนอครั้งนี้ได้จากวิทยานิพนธ์เรื่อง THE DYNAMICS OF THAI FOREIGN POLICY TOWARDS INDO-CHINA 1938-1950 By THONGBAI HONGVIANGCHAN



๑.นิยามนโยบายต่างประเทศ

คำว่า นโยบายต่างประเทศ เป็นศัพท์บัญญัติ จากภาษาอังกฤษว่า Foreign Policy ในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ International Relations Dictionary ของ Jack C. Plano & Roy Olton ได้ให้นิยามนโยบายต่างประเทศไว้ว่า “ยุทธศาสตร์ หรือแผนปฏิบัติการ ที่ถูกพัฒนาโดยผู้มีอำนาจตัดสินใจแห่งรัฐเพื่อใช้ต่อรัฐอื่น หรือองค์การระหว่างประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจะให้บรรลุถึงเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่งที่นิยามไว้ว่าเป็นผลประโยชน์แห่งชาติ”

นโยบายต่างประเทศที่ดำเนินการโดยรัฐ อาจเป็นผลมาจากการริเริ่มของรัฐนั้นเองบ้าง หรืออาจจะเป็นปฏิกิริยาต่อการริเริ่มที่ดำเนินการโดยรัฐอื่นบ้าง นโยบายต่างประเทศจะเกี่ยวข้องกับกระบวนการเชิงพลวัตรของการตีความผลประโยชน์แห่งชาติที่ค่อนข้างจะกำหนดไว้เป็นการแน่นอนแล้ว กับองค์ประกอบทางสถานการณ์ที่เลื่อนไหลไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ของสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาแนวทางปฏิบัติ และใช้ความพยายามในทางการทูตเพื่อให้บรรลุถึงแนวนโยบายให้ได้

๒.นโยบายต่างประเทศของประเทศไทย

กล่าวโดยภาพรวม ประเทศไทย มีประสบการณ์มากกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นใด ในการปรับตัวทางการเมืองต่อโลกภายนอก เมื่อคนไทยอพยพจากภาคใต้ของจีนในคริสต์ศตวรรษที่ 9 เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในดินแดนที่ในอดีตเรียกว่าสยามนั้น คนไทยได้เอาชนะอาณาจักรเขมรที่ยิ่งใหญ่และเกรียงไกรมากในภูมิภาคนี้ได้ และในที่สุดก็ได้รวมชนเผ่าไทยตามเมืองต่างๆสถาปนาเป็นประเทศไทยได้สำเร็จอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

ในการดำเนินความสัมพันธ์ต่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น ผู้นำไทยชอบที่จะใช้วิธีการทางทหารมากกว่าวิธีการทางการทูต จึงปรากฏในประวัติศาสตร์ว่าประเทศไทยต้องพ่ายแพ้ต่อประเทศเพื่อนบ้านหลายต่อหลายครั้ง แต่ทุกครั้งก็สามารถกอบกู้เอกราชและอธิปไตยคืนมาในภายหลังได้ พอถึงยุคล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก บรรดาประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทยต่างตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ แต่ประเทศไทยสามารถยืนหยัดดำรงเอกราชของชาติและดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศต่างๆในฐานะเป็นประเทศเอกราชและมีอธิปไตยอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง

๓.หลักนิยม ๒ อย่างในยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของประเทศไทย

ในการดำเนินกิจการระหว่างประเทศนั้น ผู้นำไทยได้พัฒนายุทธศาสตร์และยุทธวิธีอันเป็นของตนเองโดยเฉพาะ การดำรงเอกราชของชาติและบูรณภาพแห่งดินแดนของราชอาณาจักร เป็นเป้าหมายอันดับแรกของนโยบายความมั่นคงของประเทศไทย ในการดำรงเอกราชของชาตินั้นผู้นำไทยพยายามจะมีอิสรภาพทางการเมืองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และในขณะเดียวกันก็พยายามที่จะลดอิทธิพลของมหาอำนาจต่างชาติในประเทศไทยให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
ในการใช้ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีดังกล่าว ผู้นำไทยได้ใช้หลักนิยมพื้นฐาน 2 อย่างในการดำรงเอกราชและอธิปไตยของชาติ หลักนิยมอย่างแรก ได้แก่ หากมีมหาอำนาจโดดเด่นอยู่เพียงมหาอำนาจเดียวในภูมิภาคนี้ ผู้นำไทยจะใช้วิธีโอนอ่อนผ่อนตามมหาอำนาจนั้น เพราะคนไทยมีความเชื่อว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่จะพายเรือทวนกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก และว่า ไม่ควรแข็งทื่อต้านแรงลม เพราะต้นไม้ที่ลู่ลมย่อมไม่หักโค่นเพราะลมแรง อย่างนี้เป็นต้น ความเชื่อของคนไทยนี้ได้ถูกนำมาใช้ในการดำเนินกิจการต่างประเทศของประเทศไทย ผู้นำไทยจะใช้การทูตลู่ตามลมเช่นนี้เมื่อเห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อความอยู่รอดของราชอาณาจักไทย ยกตัวอย่างเช่น ผู้นำไทยได้อ้างถึงความชอบธรรมในการที่ประเทศไทยประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษและในขณะเดียวกันก็ได้ให้ความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นในระหว่างสงครามแปซิฟิกว่า เราคนไทยโอนอ่อนเหมือนต้นไผ่แต่เราไม่หักโค่น

หลักนิยมอย่างที่ 2 ที่นำมาใช้เพื่อดำรงเอกราชและอธิปไตยของชาตินั้น ได้แก่ หากในภูมิภาคนี้มีสองมหาอำนาจหรือมากกว่า ผู้นำไทยจะพยายามกระจายการติดต่อทางการเมืองและการทูตให้มีลักษณะหลากหลาย นโยบายสร้างดุลภาพและดึงมหาอำนาจหนึ่งมาคานกับอีกมหาอำนาจหนี่งในความสัมพันธ์กับต่างประเทศเช่นนี้ได้ถูกนำมาใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งหรือกลุ่มประเทศใดกลุ่มประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะ เพราะฉะนั้น ยุทธิวิธีอันเป็นหลักนิยมอย่างแรกคือการลู่ตามลมและการไม่พายเรือทวนกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก ก็จะถูกแทนที่โดยยุทธวิธีการนำมหาอำนาจหนึ่งมาคานและดุลอีกมหาอำนาจหนึ่ง รากเหง้าของแบบแผนทางการทูตเช่นนี้ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจะดึงมหาอำนาจมาช่วยปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทยนี้ เป็นสิ่งที่ได้มาจากหลักปฏิบัติในการเมืองภายในของประเทศไทย กล่าวคือ โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่-ผู้น้อยของการเมืองภายในของประเทศไทยได้ถูกนำมาใช้กับความสัมพันธ์แบบผู้ใหญ่-ผู้น้อยในกิจการระหว่างประเทศด้วย

ที่ผู้เขียนจะนำเสนอต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของการดำเนินนโยบายต่างประเทศของประเทศไทยภายใต้
การบริหารของรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ๑ (ระหว่าง ๑๙๓๘-๑๙๔๔) อันเป็นช่วงที่ผู้นำไทยซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตกลงใจในนโยบายต่างประเทศ ได้ฉกฉวยโอกาสตอนที่ประเทศฝรั่งเศสเกิดความอ่อนแอทั้งทางการเมืองและการทหารในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง และได้ใช้สาเหตุที่ญี่ปุ่นเคลื่อนทัพจากภาคใต้ของประเทศจีนเข้ามาอยู่ทางภาคเหนือของอินโดจีนเพื่อเตรียมการรุกลงใต้ทำการโจมตีผลประโยชน์ของประเทศฝรั่งเศสและของประเทศอังกฤษในเอเชีย มาเป็นข้ออ้างในการดำเนินนโยบายเรียกร้องดินแดนในอินโดจีนที่เคยสูญเสียให้แก่ฝรั่งเศสคืน และทางผู้นำไทยได้ใช้เครื่องมือทั้งทางการทูตและกำลังทหารเพื่อให้บรรลุถึงเป้าประสงค์ของนโยบายได้เป็นอย่างดี ถือได้ว่ารัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ๑ ประสบความสำเร็จในกิจการระหว่างประเทศเป็นอย่างสูง เพราะนอกจากจะสามารถได้ดินแดนบางส่วนที่เคยสูญเสียไปในประเทศลาวและประเทศกัมพูชาคืนจากฝรั่งเศสในปี ค.ศ. ๑๙๔๑ แล้ว ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๔๓ ประเทศไทยก็ยังได้ค่าตอบแทนจากการเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นโดยได้รับดินแดน ๒ รัฐฉานของพม่าซึ่งตอนนั้นเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษ และดินแดนในแหลมมลายูคือ เคดาห์ เปอร์ลิส กลันตัน และตรังกานู ซึ่งในครั้งนั้นดินแดนเหล่านี้เป็นของประเทศอังกฤษ

อนุสรณ์แห่งความสำเร็จในนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามในคราวนั้นก็คือ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ยังตั้งตระหง่านให้พวกเราได้เห็นอยู่ในปัจจุบัน และการดำเนินการทางการทูตและการต่างประเทศของผู้นำไทยในครั้งนั้นก็ยังสะท้อนให้เห็นผลประโยชน์ของไทยที่มีอยู่ยั่งยืนและยาวนานในอินโดจีนอีกด้วย


๔.รากเหง้าของนโยบายการเรียกร้องดินแดนในอินโดจีนคืนจากฝรั่งเศส

ที่ผู้นำไทยในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีความต้องการดำเนินนโยบายเรียกร้องร้องดินแดนในอินโดจีนฝรั่งเศสคืนจากประเทศฝรั่งเศส ก็ด้วยเหตุผลอย่างน้อย ๓ ประการดังนี้

๑) ประเทศไทยมีผลประโยชน์ในอินโดจีนก็เพราะว่าอินโดจีนมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อประเทศ
ไทย ทั้งนี้เพราะนับเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้วอินโดจีนเคยเป็นดินแดนแข่งขันแย่งชิงกันเพื่อผลทางอำนาจและความมั่นคงปลอดภัยระหว่างประเทศไทยกับประเทศเวียดนามตลอดระยะเวลาอันยาวนานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ทั้งประเทศไทยและประเทศเวียดนามต่างแข่งขันกันเพื่อเข้าไปควบคุมประเทศกัมพูลาและประเทศลาว ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศเวียดนามนั้น ผู้นำไทยถือว่าประเทศกัมพูชาและประเทศลาวเป็นกุญแจดอกสำคัญสำหรับความมั่นคงของประเทศไทยต่อประเทศเวียดนาม ความสำคัญของประเทศกัมพูชาและประเทศลาวอยู่ที่ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ กล่าวคือผู้นำไทยมีความเห็นว่าหากประเทศศัตรูของประเทศไทยคือประเทศเวียดนามเข้ามาครอบครองดินแดนของประเทศลาวและประเทศกัมพูชาก็จะเป็นภัยคุกคามต่อเอกราช อธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศไทยเมื่อนั้น ดังนั้น นอกเหนือจากประเทศพม่าแล้วอินโดจีนจึงเป็นกุญแจดอกสำคัญต่อผลประโยชน์แห่งชาติทางความมั่นคงปลอดภัยของประเทศไทยในภูมิภาคนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักปฏิบัติของดุลอำนาจ (balance of power) ผู้นำไทยมีความสนใจที่เข้าควบคุมประเทศลาวและประเทศกัมพูชา หรือหากควบคุมไม่ได้ด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งผู้นำไทยจะไม่ยอมให้สองประเทศนี้ตกไปอยู่ในความครอบครองของประเทศที่สามที่จะเข้ามาสถาปนาความยิ่งใหญ่ในอินโดจีน

๒) ประเทศไทยมีผลประโยชน์ในอินโดจีนก็เพราะประชากรของทั้งประเทศลาวและประเทศกัมพูชามี
เผ่าพันธุ์ ศาสนา และภาษาเหมือนหรือคล้ายกับประชากรของประชากรของประเทศไทย โดยเฉพาะประชากรของประเทศลาวมีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกับของประชากรของประเทศไทยทั้งในด้านเผ่าพันธุ์และด้านศาสนา ส่วนประชากรของประเทศกัมพูชามีความเชื่อมโยงผูกพันกับประชากรของประเทศไทยทางด้านศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม แต่ประชากรของทั้งประเทศลาวและประเทศกัมพูชามิได้มีความผูกพันทางด้านภาษาหรือทางด้านศาสนากับประเทศเวียดนาม ทั้งนี้ก็เพราะประชากรของประเทศเวียดนามนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายานแบบประเทศจีนมิใช่นิกายหีนยาน ยิ่งไปกว่านั้นผู้นำไทยก็ยังมีความเชื่อว่าทั้งประเทศลาวและประเทศกัมพูชาก็ยังขาดแคลนท่าเรือและเส้นทางคมนาคมขนส่งจึงจะไม่สามารถดำรงเอกราชของตนไว้ได้ แต่จะถูกผนวกโดยประเทศไทยหรือประเทศเวียดนาม แต่เนื่องจากประชากรของทั้งประเทศลาวและประเทศกัมพูชามีเผ่าพันธุ์ ศาสนา วิถีชีวิต และเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับประชากรของประเทศไทย ประเทศลาวและประเทศกัมพูชาจึงน่าจะหันมาทางประเทศไทยยิ่งกว่าจะหันไปทางประเทศเวียดนาม ด้วยการมีทัศนะเช่นนี้ผู้นำไทยในอดีตจึงสนใจที่จะผนวกประเทศลาวและประเทศกัมพูชาเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเพื่อป้องกันมิให้ศัตรูของประเทศไทยเข้ามาใช้ประเทศลาวและประเทศกัมพูชาสถาปนาตนเองครอบงำภูมิภาคส่วนนี้ แต่ถ้าหากเป้าหมายหลักข้างต้นไม่สามารถบรรลุได้ผู้นำไทยก็หวังที่จะให้ประเทศลาวและประเทศกัมพูชาดำรงเป็นดินแดนกันชน(buffer zone) ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเวียดนาม หรือประเทศที่สามอื่นใดที่เข้ามามีอิทธพลในภูมภาคส่วนนี้

๓) ผลประโยชน์ของประเทศไทยในอินโดจีนถูกกระตุ้นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงปลาย
คริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อประเทศฝรั่งเศสได้เข้ามาเป็นมหาอำนาจครอบงำในอินโดจีน ซึ่งในช่วงดังกล่าวประเทศไทยได้สูญเสียดินแดนทั้งในประเทศลาวและประเทศกัมพูชาให้แก่ประเทศฝรั่งเศสในปี ค.ศ. ๑๙๐๔ และปี ค.ศ. ๑๙๐๗ ทางผู้นำไทยมีความเห็นว่า ดินแดนในประเทศลาวและในประเทศกัมพูชาที่ประเทศฝรั่งเศสได้ไปจากประเทศไทยโดยใช้กำลังบังคับหรือไม่ก็โดยข่มขู่คุกคามด้วยกำลัง ดังนั้นประเทศไทยจึงมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะเรียกร้องดินแดนที่สูญเสียไปนั้นกลับคืนมา

๕.ประเทศญี่ปุ่นเข้ามาอีกเป็นปัจจัยในนโยบายต่างประเทศของประเทศไทย

เมื่อก่อนจะเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศสในกรณีของอินโดจีนในครั้งนี้
แนวนโยบายต่างประเทศของประเทศไทยได้เกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อประเทศญี่ปุ่นก้าวขึ้นสู่ฐานะของ
มหาอำนาจเอเชีย ผู้นำไทยให้การยอมรับโดยพฤตินัยว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของเอเชีย ส่วนประเทศอังกฤษและประเทศฝรั่งเศสถูกมองว่าเป็นมหาอำนาจอันดับสอง ผู้นำไทยได้ใช้ปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงทางดุลอำนาจของมหาอำนาจนี้ทำการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศของประเทศไทยที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เพราะก่อนหน้านี้นโยบายต่างประเทศเดิมของประเทศไทยถูกสร้างและดำเนินมาโดยอาศัยสมมติฐานว่าประเทศอังกฤษและประเทศฝรั่งเศสเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของเอเชีย เมื่อปัจจัยทางดุลอำนาจของมหาอำนาจเปลี่ยนแปลงไป นโยบายต่างประเทศของไทยก็ต้องเปลี่ยนแปลงตามไปเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงฐานะของประเทศญี่ปุ่นด้วย

การปรับแต่งนโยบายต่างประเทศของประเทศไทยในทิศทางข้างต้นได้เริ่มบังเกิดขึ้นในระหว่างกลาง
คริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ถึง ค.ศ. ๑๙๓๓ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวในการเมืองระดับโลกและในระดับภูมิภาคประเทศอังกฤษกลายเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งส่วนประเทศฝรั่งเศสเป็นมหาอำนาจอันดับสอง ประเทศไทยซึ่งสามารถดำรงเอกราชของชาติไว้ได้เพราะความสามารถในการสร้างดุลอำนาจระหว่างมหาอำนาจทั้งสองนี้ ก็ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายภายในประเทศเพื่อให้เป็นไปในทิศทางของประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งคือประเทศอังกฤษ โดยทางรัฐบาลไทยได้ส่งนักเรียนไทยไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ระบบการศึกษาของประเทศไทยเป็นแบบเดียวกับของประเทศอังกฤษ การขาดแคลนตำราในภาษาไทยทำให้นักเรียนไทยใช้ตำราภาษาอังกฤษทั้งในโรงเรียนและในมหาวิทยาลัย ภาษาอังกฤษจึงเป็นภาษาที่สองที่ผู้มีการศึกษานำมาใช้ นอกจากนั้นแล้วนโยบายทางการคลังและผลประโยชน์ทางการค้าของประเทศไทยก็ยังเอนเอียงไปทางประเทศอังกฤษ

ก่อน ค.ศ. ๑๙๔๐รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในตอนแรกก็ได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบ
ดุลอำนาจระหว่างประเทศเพื่อนบ้านคือประเทศอังกฤษและประเทศฝรั่งเศสที่เป็นมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน แต่พอหลังเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ ได้เปลี่ยนแปลงมาดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบดุลอำนาจระหว่างประเทศอังกฤษ ประเทศฝรั่งเศส และประเทศญี่ปุ่น โดยมีประเทศญี่ปุ่นถูกนำเข้ามาเป็นประเทศที่สาม การลงนามในสนธิสัญญา ๓ ฉบับเมื่อปีวันที่ ๑๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ อาจจะนำมาอ้างอิงถึงการเปลี่ยนแปลงในนโยบายต่างประเทศของประเทศไทยนี้ได้ แต่เพื่อให้การดำเนินนโยบายเรียกร้องดินแดนในอินโดจีนคืนของประเทศไทยบรรลุวัตถุประสงค์ ผู้นำไทยในรัฐบาลจอมพล ป. ได้ตกลงใจว่าในบรรดา ๓ ชาติมหาอำนาจดังกล่าว การมีความเข้าใจอันดีกับประเทศญี่ปุ่นจะเกิดผลประโยชน์แก่ประเทศไทยมากที่สุด ด้วยเหตุนี้ทางผู้นำไทยจึงยอมรับข้อเรียกร้องทุกอย่างของญี่ปุ่นก่อนที่จะได้ลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น ในวันเดียวกันประเทศไทยก็ได้ลงนามในสัญญาไม่รุกรานกัน(Non-aggression Pact) กับทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส

๖.ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของผู้นำไทยภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยต่ออินโดจีนในช่วงเวลาระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๓๘ ถึงปี ค.ศ.
๑๙๔๔ ผู้นำในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีแนวความคิดเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองและผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในอินจีนเช่นเดียวกับของผู้นำไทยในรุ่นก่อนหน้า ยิ่งไปกว่านั้นในการมีความสัมพันธ์กับประเทศที่อยู่ในภูมิภาคและประเทศที่อยู่ภายนอกภูมิภาครัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามก็ได้สืบสานแนวปฏิบัติดั้งเดิมของไทยในเรื่องการดุลอำนาจ ซึ่งในแง่ของนโยบายต่างประเทศก็หมายถึงการป้องกันมิให้ประเทศหนึ่งประเทศใดที่เข้ามาแข่งขันแสวงหาอำนาจในภูมิภาคนี้มีอำนาจครอบงำประเทศไทยโดยใช้วิธีการสร้างดุลอำนาจ ยุทธวิธีดุลอำนาจนี้ก็ยังหมายถึงการพยายามดึงประเทศหนึ่งมาคานและดุลอำนาจของอีกประเทศหนึ่งเพื่อเป้าหมายสำคัญคือการดำรงเอกราชและอธิปไตยของประเทศไทยและในขณะเดียวกันก็สามารถปกป้องผลประโยชน์ทางด้านยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในอินโดจีนไปพร้อมๆกันด้วย

๗.ความสำเร็จของไทยในการเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส

ที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จในนโยบายต่างประเทศในอินโดจีนครั้งนี้ส่วนใหญ่ก็เนื่องมาจากความ
พยายามของรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงครามที่ได้ดึงเอาประเทศญี่ปุ่นให้มาสนับสนุนนโยบายเรียกร้องดินแดนคืนนั่นเอง ดังนั้นนโยบายต่างประเทศของไทยที่เคยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศอังกฤษและประเทศฝรั่งเศสสองเจ้าอาณานิคมเพื่อนบ้านก็ได้เปลี่ยนแปลงโดยนำเอาประเทศที่สามคือญี่ปุ่นมาใช้ในยุทธวิธีคานและดุลอำนาจด้วย จากการศึกษาได้พบว่าผู้นำไทยของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามได้ดำเนินการใช้มหาอำนาจทั้งสามคานและดุลกันอย่างชาญฉลาดเป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงครามสามารถแสวงหาผลประโยชน์ในอินโดจีนจากการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจในภูมิภาคโดยประเทศที่สูญเสียผลประโยชน์ให้ประเทศไทยมากที่สุดคือประเทศฝรั่งเศส

๘.ผลดีของการดำเนินยุทธศาสตร์และยุทธวิธีดุลอำนาจ

เมื่อมีการลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานกัน(Non-aggression Pact) กับประเทศอังกฤษและ
ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ค.ศ.๑๙๔๐ และสนธิสัญญามิตรภาพ(Treaty of Friendship) ในวันเดียวกันกับประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามสามารถสร้างดุลอำนาจระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสได้สำเร็จ แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามก็ฉกฉวยโอกาสในช่วงที่ประเทศฝรั่งเศสอ่อนแอแสวงหาประโยชน์เรียกร้องดินแดนที่เคยสูญเสียในอินโดจีนคืนจากประเทศ ในการเจรจาสนธิสัญญาการไม่รุกรานกันกับประเทศฝรั่งเศสนั้น รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามได้หาประโยชน์จากท่าทีมิตรภาพของประเทศอังกฤษโดยนำมาใช้เป็นเครื่องมือบีบประเทศฝรั่งเศสให้ยินยอมผ่อนปรนตามข้อเรียกร้องของประเทศไทยอีกทอดหนึ่ง รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ใช้กลยุทธ์ดึงศัตรูสองประเทศมาคานและดุลอำนาจกัน ความสำเร็จของกลยุทธ์นี้มีความเป็นไปได้อย่างสูงก็เนื่องจากญี่ปุ่นในขณะนั้นกำลังดำเนินนโยบายรุกรานดินแดนทางด้านใต้ของประเทศจีน สอดประสานกับการเกิดขบวนการชาตินิยมและขบวนการเรียกร้องดินแดนคืน และขบวนการสร้างความยิ่งใหญ่ของประเทศไทยขึ้นในหมู่ของคนไทย ปัจจัยทั้งที่เป็นภายในและที่เป็นภายนอกเหล่านี้ ล้วนประกอบกันเป็นพลังสามารถเป็นสิ่งท้าทายสถานะทางการเมืองของทั้งประเทศอังกฤษและประเทศฝรั่งเศสในเอเชียให้สั่นคลอนได้ ก็จึงทำให้มหาอำนาจทั้งสองต้องยินยอมผ่อนปรนให้เป็นไปตามความต้องการของประเทศไทย

๙.เบื้องแรกแค่ขอปรับดินแดนในแม่น้ำโขง

ในเบื้องแรก ประเทศไทยได้ความยินยอมจากประเทศฝรั่งเศสโดยมีข้อตกลงให้มีการปรับพรมแดนตามลำน้ำโขง โดยข้อตกลงนี้ปรากฏอยู่ในจดหมายลับที่แลกเปลี่ยนกันระหว่างเจ้าหน้าที่ไทยกับเจ้าหน้าฝรั่งเศสเมื่อมีการลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานกันในวันที่ ๑๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ สาระสำคัญของจดหมายลับดังกล่าวมีข้อความยืนยันว่าฝรั่งเศสยินยอมที่จะปรับปรุงพรมแดนตามแม่น้ำโขงให้เป็นตามแนวร่องน้ำลึก(talweg)และให้การรับรองว่าดินแดนที่อยู่ทางตะวันตกของร่องน้ำลึก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ บรรดาเกาะแก่งใดๆที่อยู่ใกล้ฝั่งของประเทศไทยก็ให้เป็นของประเทศไทยเพื่อความสะดวกในการบริหารแต่ทั้งนี้ประเทศไทยยังให้การรับรองว่าบรรดาเกาะใหญ่ๆทั้งหมดยังเป็นส่วนหนึ่งของอินโดจีนฝรั่งเศสอยู่ต่อไป

๑๐.สถานการณ์เปลี่ยนและข้อเรียกร้องเปลี่ยนตาม

แต่พอฝรั่งเศสพ่ายแพ้สงครามในยุโรปในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ สถานการณ์การเรียกร้องดินแดนคืนในอินโดจีนเกิดการเปลี่ยนแปลงในทันที ผู้นำไทยของรัฐบาลจอมพล ป. ต้องการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส โดยผู้นำไทยประกาศว่ายังไม่พอใจกับสิ่งที่ประเทศไทยจะพึงได้จากข้อตกลงในสนธิสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส ข้อตกลงตลอดจนจดหมายลับที่ให้ไว้ต่อกันในวันลงนามในสนธิสัญญาให้คำมั่นที่จะให้ดินแดนแก่ประเทศไทยน้อยเกินไปสุดที่ขบวนการเรียกร้องดินแดนคืนจะยอมรับได้

ผู้นำไทยอ้างเหตุที่ญี่ปุ่นเคลื่อนทัพเข้ามาอยู่ในภาคเหนือของอินโดจีนเป็นข้ออ้างเพื่อขยายข้อเรียกร้องของฝ่ายประเทศไทย กล่าวคือทางรัฐบาลจอมพล ป. ต้องการประเทศกัมพูชาและประเทศลาวทั้งประเทศอันรวมถึงดินแดนส่วนต่างๆของดินแดนที่ฝรั่งเศสได้ไปจากประเทศไทยระหว่างปี ค.ศ. ๑๘๖๗ ถึง ค.ศ. ๑๙๐๗ ความต้องการของผู้นำไทยที่ต้องผนวกประเทศกัมพูชาและประเทศลาวนี้ก็เพราะถูกกระตุ้นจากความกลัวว่าประเทศไทยจะเกิดความขัดแย้งกับประเทศเวียดนามอีกครั้งหนึ่ง หรือเกิดจากความต้องการที่จะมิให้ประเทศเวียดนามหรือประเทศญี่ปุ่นเข้าครอบครองประเทศลาวและประเทศกัมพูชาอันจะนำไปสู่การคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศไทย ทัศนะของผู้นำในรัฐบาลจอมพล ป. สะท้อนให้เห็นการคำนึงถึงผลประโยชน์ทางด้านยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในอินโนจีนที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนานและถูกกระตุ้นจากประสบการณ์ที่ประเทศไทยเคยมีมาในอดีตทั้งกับประเทศเวียดนามและประเทศฝรั่งเศสในช่วงก่อนหน้านี้

๑๑.ก่อนสงครามไม่ประกาศระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส

ความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ของผู้นำไทยที่จะดำเนินนโยบายเรียกร้องดินแดนคืนให้บรรลุผลจงได้นี้ได้นำไปสู่วิกฤตการณ์ตามพรมแดนอินโดจีนฝรั่งเศสและประเทศไทยและนำไปสู่สงครามระหว่างกันในช่วงเวลาสั้นๆอันส่งผลให้ประเทศไทยได้ดินแดนในลาวและกัมพูชาซึ่งประเทศไทยได้สูญเสียแก่ประเทศฝรั่งเศสในปี ค.ศ. ๑๙๐๔ และปี ค.ศ. ๑๙๐๗ จากเหตุการณ์ครั้งนี้แสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกนับแต่ยุคล่าอาณานิยมของชาวตะวันตกว่าผู้นำไทยได้ใช้ทั้งการทูตและกำลังทหารเป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของนโยบายต่างประเทศ โดยในช่วงแรกรัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพล ป.ได้ทำการเจรจากับประเทศฝรั่งเศสโดยตรง ครั้นประสบความล้มเหลวไม่สามารถชักนำให้ประเทศฝรั่งเศสยินยอมตามข้อเรียกร้องของฝ่ายไทยได้ รัฐบาลไทยก็ได้ใช้การทูตในเชิงรุกโดยการทูตเชิงรุกนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อดึงมหาอำนาจอื่นๆให้มาสนใจในข้อเรียกร้องของประเทศไทย มหาอำนาจเหล่านี้ได้แก่ ประเทศอังกฤษ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเยอรมนี และประเทศอิตาลี รัฐบาลไทยได้รับการตอบรับเชิงเห็นอกเห็นใจจากประเทศญี่ปุ่น ประเทศเยอรมนี และประเทศอิตาลีซึ่งฝ่ายประเทศไทยได้ใช้คานและดุลกับท่าทีที่ไม่เป็นมิตรและไม่เห็นด้วยของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษ ทั้งนี้ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษต้องการให้ดำรงสถานภาพเดิม(status quo)เอาไว้ในอินโดจีน กระนั้นก็ดีขณะที่สหรัฐอเมริกายืนหยัดในหลักการสถานภาพเดิมอย่างแข็งขัน แต่ประเทศอังกฤษกลับมีท่าทียืดหยุ่นในหลักการสถานภาพเดิม

๑๒.การทูตเชิงรุกของประเทศไทย

ท่ามกลางสภาพแวดล้อมภายนอกที่อยู่ในลักษณะคานและดุลอำนาจดังกล่าว ผู้นำไทยในรัฐบาลของจอมพล ป. จึงได้โอกาสใช้กลยุทธ์ดึงมหาอำนาจหนึ่งมาคานและดุลอีกมหาอำนาจหนึ่งเพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทย กลยุทธ์นี้ได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบเมื่อตอนที่รัฐบาลจอมพล ป. พิปูลสงครามส่งคณะผู้แทนของประเทศไทยที่เรียกว่าคณะทูตสันถวไมตรี (Special Goodwill Missions) ไปยังมหาอำนาจต่างๆที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการทูตของประเทศไทยในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือคณะผู้แทนทูตสันถวไมตรี (Special Goodwill Mission) ที่เดินทางไปยังกรุงฮานอย และกรุงโตเกียว ที่นำคณะโดย พันเอก หลวงพรหมโยธี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ได้ปฏิบัติการการทูตเชิงรุกในครั้งนี้ แต่ผู้แทนคณะนี้ไม่ประสบความสำเร็จในการชักนำให้ประเทศฝรั่งเศสยอมรับข้อเสนอของประเทศไทยว่าประเทศไทยจะร่วมมือกับประเทศฝรั่งเศสต่อต้านการรุกรานของประเทศญี่ปุ่นในอินโดจีนเพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่ประเทศฝรั่งเศสจะยกดินแดนที่อยู่ทางหลวงพระบางและปากเซแก่ประเทศไทย เมื่อคณะทูตสันถวไมตรีคณะนี้เดินทางไปถึงกรุงโตเกียวในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๐ ได้สร้างความวิตกกังวลให้แก่รัฐบาลของประเทศอังกฤษเป็นอย่างมากเพราะเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างงประเทศอังกฤษมีความหวั่นเกรงว่าทางคณะผู้แทนไทยคณะนี้จะเจรจายินยอมรับข้อเรียกร้องทางการทหารของประเทศญี่ปุ่นที่ต้องการตั้งฐานทัพอากาศและฐานทัพเรือในดินแดนของประเทศไทย ทางประเทศอังกฤษจึงได้แสดงท่าทีออกมาว่ามีความเห็นชอบที่ทางประเทศไทยจะขอดินแดนที่อยู่ทางหลวงพระบางและปากเซจากประเทศฝรั่งเศส แม้ว่าประเทศไทยจะสามารถใช้ชั้นเชิงทางการทูตจนสามารถได้ความเห็นใจจากประเทศอังกฤษ แต่ประเทศไทยก็ไม่สามารถได้ดินแดนเหล่านี้โดยการเจรจาโดยตรงกับประเทศฝรั่งเศสได้ ทั้งประเทศอังกฤษก็ไม่สามารถช่วยประเทศไทยให้ได้ดินแดนเหล่านี้ได้ ในขณะเดียวกันนั้นทางประเทศไทยก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทัศนะที่แข็งขันและไม่ยืดหยุ่นของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ต้องการคงสถานภาพเดิมในอินโดจีนได้สำเร็จ

๑๓.ความเชื่อมโยงระหว่างการเมืองภายในกับนโยบายต่างประเทศ

เมื่อการทูตเชิงรุกของรัฐบาลของจอมพล ป. แสดงที ท่าว่าจะไม่ประสบความสำเร็จในนโยบายเรียกร้องดินแดนคืนจากประเทศฝรั่งเศสเช่นนี้เสียแล้ว ทางกองทัพบกและกองทัพเรือของไทยก็ได้แสดงออกถึงความไม่พอใจกับการดำเนินนโยบายต่างประเทศของจอมพล ป. และได้มีสิ่งบอกเหตุปรากฏออกมาว่าทางกองทัพบกและกองทัพเรือจะบีบบังคับให้จอมพล ป.ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากจอมพล ป.ต้องถูกบีบให้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจริง ผู้ที่กองทัพบกและกองทัพเรือจะเลือกให้เข้ามารับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีแทนจอมพล ป. ก็คือ พลเรือโท สินธุ์ สงครามชัย ผู้บัญชาการทหารเรือ หรือไม่ก็พระยาพหลพลพยุหเสนา อดีตนายกรัฐมนตรี ด้วยสถานการณ์บีบบังคับทางการเมืองภายในดังกล่าว จอมพล ป. ซึ่งต้องการอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป ก็ได้ตัดสินใจที่จะร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น จอมพล ป. จึงได้ให้คำมั่นสัญญาด้วยวาจากับผู้ช่วยทูตทหารญี่ปุ่นประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ ว่าทางประเทศไทยจะไม่ดำเนินนโยบายเป็นกลาง(neutrality)แต่จะยอมให้ญี่ปุ่นใช้ดินแดนของประเทศไทยเพื่อเป็นทางผ่านไปโจมตีแหลมมลายูและพม่า ทั้งนี้ทางประเทศไทยขอให้ญี่ปุ่นช่วยเหลือสนับสนุนให้ประเทศไทยได้ดินแดนในอินโดจีนคืนจากฝรั่งเศส แต่เพื่อให้เกิดการคานและดุลอำนาจกับข้อตกลงทางวาจาที่ให้ไว้กับประเทศญี่ปุ่นดังกล่าว จอมพล ป. ได้พยายามที่จะใช้ประเทศอังกฤษเป็นมหาอำนาจคานและดุลประเทศญี่ปุ่น จากหลักฐานปรากฏว่า ในอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา จอมพล ป. ได้ส่งพันเอก หลวงขาบกุญชร เป็นผู้แทนลับไปยังสิงคโปร์เพื่อแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ทางทหารของอังกฤษที่นั่นว่า ประเทศไทยจะทำการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นหากประเทศญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยไปโจมตีมลายาและพม่า

๑๔.การใช้กำลังทหารผสานกับการทูต

เมื่อเชื่อว่าสามารถสร้างดุลอำนาจในชั้นนี้ได้สำเร็จแล้ว จอมพล ป. ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการโฆษณาชวนเชื่อที่มีประสิทธิภาพภายในประเทศเรียบร้อยแล้ว ก็ได้ใช้กำลังทหารเป็นเครื่องมือของนโยบายเรียกร้องดินแดนคืนจากประเทศฝรั่งเศส ดังนั้นเมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๐ สงครามไม่ประกาศ(undeclared war)ระหว่างประเทศไทยและอินโดจีนฝรั่งเศสก็ได้ระเบิดขึ้น ประเทศฝรั่งเศสเสียเปรียบในสงครามครั้งนี้เพราะไม่สามารถเสริมกำลังพลจากดินแดนส่วนอื่นของฝรั่งเศสมาได้ทัน ก่อนที่ประเทศญี่ปุ่นจะเข้าแทรกแซงทางการทูตเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๑ กองบัญชาการทหารสูงสุดไทยประกาศว่า กองทัพไทยสามารถยึดพื้นที่หลวงพระบางด้านประเทศลาวที่ประเทศไทยเคยสูญเสียแก่ฝรั่งเศสได้ทั้งหมดและพื้นที่ในกัมพูชาจากพรมแดนประเทศไทยลึกเข้าไปในกัมพูชาถึง ๔๐ กิโลเมตร เสื่อมวลชนไทยต่างประโคมข่าวรายงานว่า ดินแดนประเทศลาวและประเทศกัมพูชาทั้งประเทศจะถูกทหารไทยยึดได้ทั้งหมดหากประเทศญี่ปุ่นไม่มาแทรกแซงการรบในครั้งนี้เสียก่อน

๑๕.อนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส

ตามข้อตกลงใน อนุสัญญาสันติภาพระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส(Franco-Thai Peace Convention) ฉบับวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ ประเทศไทยได้เพียงดินแดนส่วนหนึ่งในประเทศลาวและประเทศกัมพูชาน้อยกว่าที่ประเทศไทยเรียกร้องมาก และก็น้อยกว่าที่กองทัพไทยสามารถยึดได้เสียอีก ดินแดนที่ได้คืนมานั้นเป็นแค่ส่วนเสี้ยวของดินแดนที่ประเทศไทยเคยสูญเสียแก่ประเทศฝรั่งเศสในปี ค.ศ. ๑๙๐๔ และปี ค.ศ. ๑๙๐๗ ยิ่งไปกว่านั้นทางประเทศไทยยังตกลงที่จะจัดตั้งเขตปลอดทหารและจ่ายเงินชดเชยความเสียหายแก่ประเทศฝรั่งเศสเสียอีกด้วย ด้วยเหตุนี้จึงมีความรู้สึกไม่ดีเกิดขึ้นในหมู่ของผู้นำไทยว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นศัตรูยิ่งกว่าจะเป็นมิตรของไทย ความรู้สึกนี้เกิดจากที่ผู้นำไทยไม่พอใจในบทบาทของประเทศญี่ปุ่นในฐานะเข้ามาเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยและต่อมาได้เริ่มเข้ามามีอิทธิพลเหนือประเทศไทยทั้งทางด้านการเมืองและทางด้านเศรษฐกิจ

๑๖.ผู้นำไทยพยายามดึงสหภาพโซเวียตมาสนใจประเทศไทย

จากการที่ผู้นำไทยในรัฐบาลจอมพล ป.ไม่พอใจบทบาทของญี่ปุ่นในช่วงไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทและการไม่ไว้ใจประเทศญี่ปุ่นที่เข้ามามีอิทธิพลบีบบังคับประเทศไทยในหลายด้านหลังสงครามอินโดจีนนี่เอง ได้นำไปสู่การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหภาพโซเวียต ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ถูกตัดขาดหลังจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ทำการโค่นล้มพระเจ้าซาร์แห่งราชวงศ์โรมานอฟและประเทศสหภาพโซเวียตมีการปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์ ที่ผู้นำไทยริเริ่มทางการทูตครั้งนี้ก็เพราะมีความตั้งใจจะใช้ประเทศสหภาพโซเวียต(ร่วมกับประเทศอังกฤษ) เพื่อถ่วงดุลอำนาจของประเทศญี่ปุ่นในเอเชีย จากหลักฐานปรากฏว่า ขณะที่พันเอก ประยูร ภมรมนตรี หัวหน้าคณะทูตสันถวไมตรีที่ส่งไปเยือนประเทศต่างๆในยุโรปอยู่ในกรุงเบอร์ลินประเทศเยอรมี ก็ได้รับคำสั่งจากจอมพล ป. ให้รีบเดินทางไปที่กรุงมอสโกเพื่อเจรจาทำสนธิสัญญากับประเทศสหภาพโซเวียต ผลของการเจรจาในครั้งนี้ทำให้มีการประกาศการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางด้านการทูตและการค้าระหว่างประเทศไทยและประเทศสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๑๙๔๑ ซึ่งเป็นช่วงแค่หนึ่งวันหลังจากมีการลงนามข้อตกลงทางพรมแดนด้านอินโดจีนระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศสที่กรุงโตเกียว

เรื่องที่นำมาเสนอข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างหรือกรณีศึกษา ของการดำเนินนโยบายต่างประเทศของประเทศไทย เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอินโดจีนฝรั่งเศส ในช่วงระยะแรกของการบริหารประเทศของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามเท่านั้น หากมีโอกาสผู้เขียนจะได้นำเสนอฉากอื่นๆของนโยบายต่างประเทศของประเทศไทยในช่วงอื่นๆต่อไป.

-----------------------
เอกสารอ้างอิง
๑.Jack C. Plano & Roy Olton, The International Relations Dictionary, Third Edition, ABC-CLIO, 1982.
๒.Thongbai Honviangchan, THE DYNAMICS OF THAI FOREIGN POLICY TOWARDS INDO-CHINA 1938-1950, A thesis submitted for the degree of Master of Philosophy, The London School of Economics and Political Science, University of London,1984.

No comments:

Post a Comment

Google