Monday, June 29, 2009

ประเทศไทย สงครามแปซิฟิก และอินโดจีน

โดย พลเรือตรี รศ. ทองใบ ธีรานันทางกูร

ที่จะนำเสนอต่อไปนี้เป็นเรื่องของนโยบายต่างประเทศ ของประเทศไทยในช่วงสงครามแปซิฟิก(ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ) ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวอินโดจีนได้เปลี่ยนสถานะ จากที่เคยเป็นดินแดนแห่งการแสวงหาโอกาสทองของประเทศไทย กลับกลายมาเป็นดินแดนแห่งภัยคุกคามต่อเอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศไทยโยตรง ทั้งนี้เพราะประเทศญี่ปุ่นได้ดำเนินนโยบายบุกลงทางใต้(ของประเทศจีน และของอินโดจีนฝรั่งเศส) ส่งกองทัพญี่ปุ่นอันมีแสนยานุภาพอันเกรียงไกรมาประชิดพรมแดนไทยด้านอินโดจีน และในที่สุดก็ได้บุกประเทศไทย(พร้อมๆกับโจมตีเพิร์ล ฮาเบอร์ของสหรัฐอเมริกาในเวลาเดียวกัน) เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ.๑๙๔๑ เพื่อเดินทัพต่อไปยังแหลมมลายูและพม่าอาณานิคมของประเทศอังกฤษ

ช่วงที่เอาใจเพื่อขอบคุณประเทศญี่ปุ่น

ในช่วงหลังการสิ้นสุดการขัดแย้งระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศสระหว่างเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ นโยบายต่างประเทศของประเทศไทยถูกกำหนดโดยความต้องการของผู้นำไทยภายใต้การบริหารของรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามที่จะแสดงความขอบคุณต่อประเทศญี่ปุ่นซึ่งเข้ามามีบทบาทเป็นผู้ไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทดินแดนอินโดจีนระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศสดังที่ผู้เขียนได้นำเสนอไปแล้ว

เป้าหมายของนโยบายต่างประเทศของประเทศไทยในห้วงเวลาสั้นๆนี้มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับผลประโยชน์ทางการเมืองของประเทศไทยในอินโดจีนฝรั่งเศส แม้ว่าผู้นำไทยจะไม่พอใจในบทบาทผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศสของประเทศญี่ปุ่น แต่ผู้นำไทยก็ได้แสดงท่าทีของการตอบแทนบุญคุณประเทศญี่ปุ่นด้วยการส่งออกข้าว ดีบุกและยางพาราไปให้ แต่นโยบายโอนอ่อนและเอาใจประเทศญี่ปุ่นนี้ก็ได้ถูกระงับเมื่อการส่งมอบดินแดนในอินโดจีนที่ประเทศไทยได้จากประเทศฝรั่งเศสได้ดำเนินการเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์ในปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๑

เริ่มถูกกดดันจากประเทศญี่ปุ่น

ในช่วงเวลาระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงปลายปี ค.ศ. ๑๙๔๑ การทูตและการต่างประเทศของประเทศไทยมีความละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่ง ในช่วงเดือนกรกฎาคมภาพลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นในประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ผู้นำไทยเห็นว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นมิตรผู้ใจบุญมีความเอื้ออารีได้กลับกลายเป็นศัตรูผู้เตรียมพร้อมที่จะตักตวงผลประโยชน์จากประเทศไทย ผู้นำของประเทศญี่ปุ่นได้พยายามบีบประเทศไทยให้เข้าร่วมในกลุ่มสกุลเงินเยน(Yen Block) และเขตไพบูลย์ร่วมกัน(The Co-Prosperity Sphere) ของประเทศญี่ปุ่น ความพยายามทางการทูตของประเทศญี่ปุ่นได้สร้างความหวาดหวั่นให้แก่ผู้นำไทยในรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นอย่างมาก เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการถูกบีบบังคับทางด้านการทหารจากการที่ประเทศญี่ปุ่นได้เคลื่อนทัพซึ่งก่อนหน้าอยู่ทางอินโดจีนฝรั่งเศสตอนเหนือได้เคลื่อนลงทางใต้เข้ามายึดครองอินโดจีนทางด้านประเทศกัมพูชาติดกับพรมแดนของประเทศไทย

ดำเนินโยบายความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด

ผู้นำของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของประเทศญี่ปุ่นในอินโดจีนฝรั่งเศสด้วยจิตใจจดจ่อ พร้อมกับเกิดความวิตกกังวลอย่างใหญ่หลวง เพราะในห้วงเวลานี้อินโดจีนได้เปลี่ยนแปลงสถานะจากดินแดนที่เคยอำนวยโอกาสทองให้แก่ประเทศไทยแต่มาบัดนี้ได้กลายเป็นดินแดนเป็นที่มาของภัยคุกคามต่ออำนาจอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศไทยไปเสียแล้ว ในท่ามกลางสภาพแวดล้อมภายนอกประเทศที่วิกฤตเป็นอย่างยิ่งนี้ การที่ประเทศไทยจะดำเนินนโยบายเป็นกล่างอย่างเคร่งครัด(Absolute Neutrality) ตามที่ได้ประกาศไว้ในช่วงก่อนหน้านี้โดยลำพังเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง แต่ที่ประเทศไทยประกาศอย่างแข็งขันว่าจะดำเนินการปกป้องนโยบายเป็นกลางอย่างเคร่งครัดนั้นก็โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชักนำทั้งประเทศอังกฤษและประเทศสหรัฐอเมริกาให้มาช่วยเหลือประเทศไทยในการต่อต้านการบุกของประเทศญี่ปุ่น แต่นโยบายชักนำของฝ่ายประเทศไทยมีแนวโน้มว่าจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ เพราะว่าประเทศสหรัฐอเมริกาได้จัดประเทศไทยอยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศจีน กล่าวคือ การช่วยเหลือทางทหารที่สหรัฐอเมริกาจะให้แก่ประเทศไทยนั้นจะดำเนินการหลังจากประเทศญี่ปุ่นบุกประเทศไทยแล้วเท่านั้น

ทางด้านประเทศอังกฤษนั้น เมื่อผู้นำในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามติดต่อไปก็ได้รับคำตอบกลับมาว่า ประเทศอังกฤษสามารถช่วยได้เฉพาะในเรื่องน้ำมันเท่านั้น ประเทศอังกฤษไม่สามารถให้ค่ำมันสัญญาใดๆแก่ประเทศไทยซึ่งจะส่งผลให้ประเทศอังกฤษต้องทำสงครามกับประเทศญี่ปุ่นได้ เว้นเสียแต่ว่าประเทศอังกฤษได้รับการสนับสนุนทางการทหารจากประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มที่เท่านั้น

ความล้มเหลวของนโยบายเป็นกลาง

เมื่อผู้นำในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามประสบความล้มเหลวในการดำเนินนโยบายทางการทูตเพื่อที่จะชักนำให้ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินนโยบายเป็นกลางอย่างเคร่งครัดเช่นนี้แล้ว ก็เกิดความผิดหวังกับท่าทีที่ไม่เอื้อประโยชน์แก่ประเทศไทยของฝ่ายประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจอมพล ป. พิบูลสงครามได้แสดงออกถึงความผิดหวังออกมาโดยทางเอกสารทางการทูตที่ติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่ทางการทูตของประเทศอังกฤษในทำนองว่า ที่ประเทศไทยประกาศว่าจะดำเนินนโยบายเป็นกลางอย่างเคร่งครัดนั้นก็เพราะหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือทั้งจากประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษ

เกิดความรู้สึกว่าประเทศไทยถูกลอยแพและถูกประเทศอังกฤษเอาเปรียบ

นอกจากจะมีความรู้สึกว่าประเทศไทยถูกประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษลอยแพให้เผชิญกับประเทศญี่ปุ่นแต่โดยลำพังแล้ว ผู้นำไทยในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามก็ยังมีความเชื่อด้วยว่าทั้งประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อผลประโยชน์ของตนเองส่วนเดียวโดยไม่ยอมรับรู้ผลประโยชน์ของประเทศไทยเลย ทั้งนี้เพราะประเทศอังกฤษได้แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ทางการทูตของไทยในเวลาต่อมาว่า ประเทศอังกฤษจะช่วยประเทศไทยป้องกันคอคอดกระ(Kra Isthmus) และดินแดนด้านใต้ของคอคอดกระนี้จนถึงคาบสมุทรมลายาของประเทศอังกฤษเท่านั้น ซึ่งเป็นท่าทีที่จอมพล ป.พิบูลสงครามรับทราบแล้วไม่พอใจอย่างยิ่ง เพราะจอมพล ป. พิบูลสงครามต้องการให้ประเทศอังกฤษมาช่วยปกป้องประเทศไทยทั้งประเทศมิใช่แค่ปกป้องดินแดนตั้งแต่ใต้คอคอดกระไปจนถึงคาบสมุทรมลายาเท่านั้น

ต้องการหลักประกันความมั่นคงจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกา

เมื่อประสบความล้มเหลวทางด้านการทูตในการขอความช่วยเหลือทางด้านการทหารจากทั้งประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษแล้ว ผู้นำไทยในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามก็ยังไม่ละความพยายามและได้ดำเนินการทางการทูตติดต่อกับอัครราชทูตของประเทศอังกฤษและอัครราชทูตของประเทศสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ เพื่อขอให้รัฐบาลของประเทศอังกฤษและรัฐบาลของประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศอย่างทันทีทันใดว่า “การรุกรานประเทศไทยโดยประเทศญี่ปุ่นถือว่าเป็นสงครามกับประเทศอังกฤษและประเทศสหรัฐอเมริกา”

ผู้นำไทยในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับคำตอบจากอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยว่า คำประกาศเช่นนั้นรัฐบาลของสหรัฐอเมริกาไม่สามารถกระทำได้ เพราะจะเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ทางฝ่ายอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยก็ได้ให้คำตอบแก่ผู้นำไทยว่า “เราไม่อาจให้คำมั่นสัญญายิ่งไปกว่าที่เราพร้อมที่จะปฏิบัติได้ หากเราทำการประกาศฝ่ายเดียวอย่างที่ดิเรก(นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ) ต้องการ สิ่งที่เราสามารถทำได้มากที่สุดที่จะช่วยเหลือประเทศไทย ก็คือ ป้องกันจังหวัดต่างๆทางตอนใต้ของประเทศไทยเท่านั้น”

คำตอบที่อัครราชทูตของประเทศอังกฤษและอัครราชทูตของสหรัฐอเมริกาให้แก่ผู้นำไทยดังกล่าวข้างต้นเป็นคำตอบที่อัครราชทูตทั้งสองให้โดยที่ยังไม่ได้ปรึกษาขอความเห็นชอบไปทางกระทรวงการต่างประเทศของประเทศตนๆ เพราะจากหลักฐานปรากฏว่ากระทรวงการต่างประเทศของทั้งประเทศอังกฤษและประเทศสหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในระหว่างปรึกษาหารือกันว่าจะทำประกาศอะไรสักอย่างเพื่อเป็นการปลอบขวัญแก่รัฐบาลของประเทศไทยและคำประกาศที่จะส่งถึงนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยจะมีลักษณะเป็นสาส์นส่วนตัวจากประธานาธิบดี รูสเวลท์ แห่งสหรัฐอเมริกา และจากนายกรัฐมนตรีเชอร์ชิลแห่งประเทศอังกฤษ

สาส์นของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ในสาส์นของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา(ลงวันที่ ๖ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑)มีข้อความว่า “รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ หากว่าญี่ปุ่นรุกรานประเทศไทย มลายา พม่า หรือ อีสต์ อินดิส มีความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นจะรุกรานประเทศของท่านอย่างฉับพลัน หากท่านถูกโจมตี ขอท่านป้องกันตนเองเถิด เราจะมาช่วยเหลือท่านอย่างเต็มความสามารถและจะปกป้องเอกราชของประเทศของท่าน เมื่อสันติภาพมาถึง ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในระหว่างนั้น เว้นเสียแต่ว่าชาวไทยช่วยเหลือชาวญี่ปุ่น ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษจะทำงานร่วมกันเพื่อฟื้นฟูความเป็นเอกราชอธิปไตยของประเทศไทยให้กลับคืนมาได้อย่างสมบูรณ์”

สาส์นของนายกรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษ

ส่วนในสาส์นของนายกรัฐมนตรีเชอร์ชิลของประเทศอังกฤษ(ลงวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑)ที่ส่งถึงนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทยมีข้อความในทำนองเดียวกันว่า “มีความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นจะรุกรานประเทศของท่านอย่างฉับพลัน หากว่าท่านถูกโจมตี ขอท่านจงป้องกันตนเองเถิด การปกป้องเอกราชและอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ของประเทศไทยเป็นผลประโยชน์ของประเทศอังกฤษ และเราจะถือว่าการโจมตีท่านเป็นการโจมตีเรา”

หลักประกันความมั่นคงจากประเทศสหรัฐอเมริกาละประเทศอังกฤษมาถึงช้า

จากหลักฐานพบว่า สาส์นทั้งของประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกาและของนายกรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษได้ยื่นให้แก่จอมพล ป.พิบูลสงครามในวันเดียวกับที่กองทัพประเทศญี่ปุ่นบุกประเทศไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสาส์นถูกยื่นให้แก่จอมพล ป. พิบูลสงครามภายหลังจากคณะรัฐมนตรีของประเทศไทยได้ตัดสินใจสั่งให้มีการหยุดยิงและยินยอมให้กองทัพของประเทศญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยแล้ว

ดำเนินนโยบายอ้อลู่ลม

ด้วยเหตุนี้ ในห้วงเวลาก่อนที่กองทัพของญี่ปุ่นจะบุกประเทศไทย โดยเฉพาะในวันวิกฤติคือวันที่กองทัพของประเทศญี่ปุ่นบุกเข้าประเทศไทยพร้อมๆกับการโจมตีที่เพิร์ล ฮาเบอร์ ของสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ค.ศ.๑๙๔๑ ผู้นำไทยในรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงครามมีความเชื่อว่าประเทศอังกฤษและประเทศสหรัฐอเมริกาจะไม่มาช่วยไทยในการปกป้องความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดของประเทศไทย จึงได้ตกลงใจยุติการปกป้องนโยบายความเป็นกลางของประเทศไทยและได้หันไปดำเนินนโยบายพึ่งพาประเทศญี่ปุ่นที่เป็นมหาอำนาจครอบงำเพียงหนึ่งเดียวในภูมิภาคนี้ในห้วงเวลานั้น

นโยบายที่รัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงครามดำเนินในห้วงเวลาต่อมา ก็คือ นโยบายอ้อลู่ลม(Bend with the wind) ซึ่งนโยบายนี้ตั้งอยู่บนฐานของหลักความเชื่อของคนไทยที่ว่า เมื่อเกิดลมพายุพัดมารุนแรง ต้นไผ่ ต้นอ้อและต้นแขมที่ลู่ไปตามกระแสลมแรงจะไม่หักโค่น ส่วนต้นไม้อื่นๆที่แข็งทื่อต้านกับแรงลมบนจะหักโค่น นโยบายอ้อลู่ลมนี้เคยถูกนำมาปฏิบัติโดยผู้นำไทยในหลายยุคหลายสมัย ดังนั้นในการดำเนินนโยบายนี้ หากว่าแรงกดดันและข้อเรียกร้องภายนอกมีความรุนแรงยากที่จะต้านทานด้วยตนเองและปราศจากการช่วยเหลือจากหมู่มิตรภายนอก ผู้ดำเนินนโยบายต่างประเทศของประเทศไทยไม่มีทางเลี่ยงอย่างอื่นหากแต่จะโอนอ่อนผ่อนตามแรงผลักดันและข้อเรียกร้องจากภายนอกนั้นๆเพื่อความอยู่รอดและเพื่อเอกราชของประเทศไทย

นโยบายอ้อลู่ลมที่ดำเนินโดยรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงครามไม่ใช่นโยบายที่คิดค้นขึ้นมาใหม่หากทว่าเป็นนโยบายที่ผู้นำไทยในสมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และแม้แต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้เคยดำเนินมาแล้ว โดยจะเห็นได้จากที่ผู้นำไทยได้ส่งเครื่องบรรณาการไปให้ประเทศจีนซึ่งเป็นมหาอำนาจครอบงำเพียงหนึ่งเดียวในภูมิภาคนี้ของยุคนั้น เพื่อแลกเปลี่ยนกับการไม่เข้าแทรกแซงในกิจการภายในและกิจการภายนอกของประเทศไทยจากประเทศจีน และนโยบายนี้ก็ยังได้ถูกนำมาใช้เมื่อผู้นำไทยต้องการติดต่อกับมหาอำนาจภายนอกภูมิภาคด้วย เช่น ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงยอมเปิดประเทศไทยในช่วงที่การแสวงหาอาณานิคมของประเทศตะวันตกอยู่ในระยะขั้นสูงสุด โดยทรงยินยอมเปิดประเทศ ยอมให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่ประเทศอังกฤษและประเทศฝรั่งเศส ตลอดจนยอมยกดินแดนบางส่วนของประเทศไทยให้แก่ประเทศล่าอาณานิยมทั้งสอง เมื่อได้ทรง ตระหนักว่ายุทธวิธีนำสองประเทศมหาอำนาจมาคานและดุลกันไม่ประสบความสำเร็จ

เป้าหมายของนโยบายอ้อลู่ลม

ในการดำเนินยุทธวิธีการเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นอันเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายอ้อลู่ลมในช่วงเวลาต่อมาของรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีวัตถุประสงค์สำคัญก็เพื่อธำรงเอกราชของประเทศไทย และเพื่อต้องการดินแดนเพิ่มขึ้นในอินโดจีนฝรั่งเศสและอาณานิคมของประเทศอังกฤษ ยุทธวิธีพันธมิตรนี้สามารถช่วยดำรงเอกราชของประเทศไทยไว้ได้ และช่วยให้ประเทศไทยได้ดินแดนในอาณานิคมของประเทศอังกฤษทั้งในพม่าและในมลายา แต่ไม่สามารถเอื้อประโยชน์ให้ประเทศไทยได้ดินแดนเพิ่มขึ้นในอินโดจีนฝรั่งเศส

เตรียมหันกลับมาดำเนินนโยบายดุลอำนาจ

จากความผิดหวังที่ไม่ได้ดินแดนเพิ่มขึ้นในอินโดจีน จึงเป็นแรงกระตุ้นให้จอมพล ป. พิบูลสงครามหันหลังให้กับประเทศญี่ปุ่นและหันกลับมาใช้นโยบายดุลอำนาจ(Balance of power) อีกครั้งหนึ่งโดยจอมพล ป.พิบูลสงครามได้จัดตั้งองค์การเสรีไทยใต้ดินภายในประเทศเพื่อใช้ต่อต้านประเทศญี่ปุ่น และได้ส่งผู้แทนทางทหารของประเทศไทยที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในรัฐฉานในพม่า(ซึ่งถูกผนวกเข้ามาเป็นของประเทศไทยโดยความยินยอมของประเทศญี่ปุ่นในระหว่างสงคราม)ไปติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรในประเทศจีน พร้อมกับมีการเตรียมการที่จะย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯไปอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์เพื่อใช้เป็นฐานปฏิบัติการต่อต้านกองทัพของประเทศญี่ปุ่น และในขณะเดียวก็มีโครงการสร้างพุทธมณฑลขึ้นที่จังหวัดสระบุรีเพื่อให้เป็นที่หลบภัยของชาวไทยเมื่อเกิดการปะทะกันระหว่างกองทัพของประเทศไทยกับกองทัพของประเทศญี่ปุ่น แต่ก็รัฐบาลของจอมพล ป.ต้องมาประสบกับปัญหาการเมืองภายใน ถูกลงมติไม่ไว้วางในรัฐสภา และจอมพล ป.พิบูลสงครามต้องลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อเปิดทางให้แก่นายควง อภัยวงศ์จัดตั้งรัฐบาล ที่อยู่ในกำกับของนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทยอีกสายหนึ่ง มาทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินนโยบายต่างประเทศในห้วงเวลาที่เหลือจนสงครามแปซิฟิกยุติลง.
-------

เอกสารอ้างอิง
๑. Thongbai Hongviangchan, The Dynamics of Thai Foreign Policy Towards Indo-china 1938-1950, A thesis submitted for the degree of Master of Philosophy, London School of Economics and Political Science, University of London, 1984.

No comments:

Post a Comment

Google